วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เมล็ดบัวนาอาหารเพื่อสุขภาพชนิดใหม่




เมล็ดบัวนา อาหารธัญพืชมากคุณค่าทางโภชนาการ ที่เกิดจากการค้นพบของชาวนากลุ่มหนึ่งของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา สั่งสมประสบการณ์และถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลาน นำมาทำอาหารหวานรับประทาน เพื่อให้มีอาหารรับประทาน ไม่ต้องใช้เงินเพียงแต่ใช้แรงงานหาฝักบัวนา นำมาแกะเอาเมล็ดออกมา แล้วนำไปตำในครกไม้สำหรับตำข้าวซ้อมมือ เมื่อเปลือกแตกออกตักใส่กระด้งฝัดเปลือกออกไป ได้เมล็ดบัวนาเมล็ดเล็กๆสีน้ำตาลแดง มีกลิ่นหอมคล้ายช็อกโกแลต นำไปแช่น้ำ 1 คืน ใส่หม้อเติมน้ำปริมาณ 3 - 4 เท่าของเมล็ดบัว ต้มให้สุก จะได้ข้าวเมล็ดบัวนาที่มีกลิ่นหอมมาก เติมกะทิ และน้ำตาล ได้ขนมแกงบวดเมล็ดบัวนาที่รสชาดหอมหวานมัน อิ่มอร่อย
เมล็ดบัวนาสะอาด เป็นอาหารที่ได้ตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย จะมีใครสักกี่คนที่ทราบว่าเมล็ดบัวนานำมารับประทานได้ นี่คือภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ชาวบ้านค้นพบจากความพยายามแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง มองสิ่งรอบตัวและคิดค้นวิธีการนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นถึงปัจจุบัน ยังมีผู้มีภูมิรู้ในการหาและทำเมล็ดบัวนาเพียงไม่กี่ราย ได้เมล็ดบัวนาประมาณ100-200 กิโลกรัม/ปี เท่านั้น ราคาไม่เล็กตามขนาดของเมล็ด คือ กิโลกรัมละ 100-200 บาท น่าสนใจมากๆใช่มั้ย

ทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ใส่ในข้าวสวย หรือข้าวค้มรับประทานเป็นอาหารธัญพืช รับประทานเหมือนข้าวคลุกไข่ปลา แต่เป็นไข่ปลามังสะวิรัต มีเยื่อใยมาก ช่วยระบบขับถ่าย เมล็ดบัวนากวน และที่คิดว่าน่าจะทำได้อีกอย่างคือ ขนมครกแป้งเมล็ดบัวนา และอาจทำได้อีกหลายๆแบบในอนาคต

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แกงพุงปลา(ไตปลา)ปากพนัง

ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดย ยุวดี วัฒนสุนทร
คนปากพนังดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับแม่น้ำและทะเล ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีความอุดมสมบูรณ์มายาวนาน มีทั้งสัตว์น้ำมากมาย ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ปริมาณสัตว์น้ำมากมาย จนเกิดภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาปรุงอาหารรับประทาน และถนอมอาหารที่มีอยู่ไว้รับประทานได้นานขึ้นหรือเก็บไว้ในหน้าแล้ง เช่น ปลากระบอกที่นำมาทำปลาร้า(ภาษาท้องถิ่น) ( หมายถึงปลาเค็ม ) ปลากระบอกผ่าล้างน้ำเกลือแล้วตากแห้ง ไข่ปลากระบอกล้างน้ำเกลือตาก ส่วนพุงปลากระบอกหรือไตปลา นำแกะเอาถุงน้ำดีออกและรีดเอาอาหารหรือดินในกระเพาะและไส้ออกก่อน แล้วล้างให้สะอาดแล้วใส่เกลือหมักไว้ เมื่อมีแสงแดดจะนำออกมาตากไว้จะมีกลิ่นหอม ประมาณ 1 เดือนจึงจะนำมาปรุงเป็นอาหารได้
มีการปรุงได้หลายๆแบบ เช่น
· แกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กุ้งสด หรือใส่ปลาช่อนย่าง หรือใส่ปลาดุกนาย่าง หรือปลาอื่นๆที่มีอยู่โดยนำปลามาย่างให้สุกก่อนใส่ลงในแกง อาจเพิ่มผักที่มีเนื้อแข็งหรือเนื้อหนาลงไปด้วย เช่น ฟักทอง มันเทศ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์เกาะเปลือกแล้วแบบดิบ เมล็ดขนุนต้มสุกปอกเปลือกหั่นครึ่ง มะเขือเปราะ หน่อไม้ต้ม(ดัดแปลงไปจากท้องถิ่น) หรือมันฝรั่งก็ได้
· แกงพุง(ไตปลา)ปลาอื้อ เป็นแกงที่มีไตปลาเป็นหลัก แต่เครื่องแกงไม่ตำ แต่จะหั่นทุกอย่างในเป็นฝอยหรือชิ้นเล็กๆพร้อมทั้งใส่ขนมถั่วงาตำลงไปด้วย
· แกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กะทิ โดยการเพิ่มกะทิลงในแกงแกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กุ้งสด เพื่อเปลี่ยนรสชาด
แกงไตปลามีรสจัด มักทำรับประทานในฤดูฝนอากาศเย็น จะช่วยรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย และเพื่อเพิ่มคุณค่าให้อาหาร โดยการรับประทานร่วมกับผักสดหลายชนิด รวมทั้งช่วยลดความเผ็ดร้อนลง เรียกว่า ผักเหนาะ เช่น สะตอเบา(กระถิน รับประทานทั้งยอดอ่อน ฝักอ่อนและเมล็ด) สะตอหนัก ลูกเนียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ และ แตงกวา เป็นต้นมักรับประทานร่วมกับแกงเรียง ผักพื้นบ้าน หรือกับขนมจีนใส่แกงพุงปลา ก็เป็นที่นิยมรับประทาน อร่อยมากเช่นกันเครื่องปรุงแกงพุงปลา(ไตปลา)ปากพนัง
1. กุ้งสดแกะเปลือกแล้วทุบ หรือหั่นเฉียงๆ 1 ถ้วยตวง(หรือหมูสับก็ได้ตามชอบ)
2. ปลาช่อน(ปลาดุก หรือปลาทะเลอื่นๆที่มีอยู่ ย่างแกะเนื้อแล้ว) 1 ถ้วย หรือตามชอบ
3. ไตปลา ครึ่งถ้วยตวง (60 กรัม)
4. เครื่องแกง ประกอบด้วย
· ตะไคร้หั่นเป็นแว่นบางๆ 2-3 ช้อนโต๊ะ (นิยมใส่มากๆจะช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี)
· ขมิ้นหั่นเป็นแว่นๆ 1/2 ช้อนโต๊ะ
· หอมแดง 2-3 หัว
· กระเทียมไทย 10-15 กลีบ
· พริกขี้หนูแห้งหรือสด 25 เม็ด
· พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา
· ผิวมะกรูดหั่นฝอย 1/2 ช้อนชา
· ข้าวสารแช่น้ำ 1 ช้อนชา (ถ้าต้องการแกงน้ำข้น)
· กะปิ 1/2 ช้อนโต๊ะ
5. ใบมะกรูดอ่อน 5 ใบ และใบแก่ 5 ใบ
6. เครื่องปรุงรส ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมะนาว (มะขามสดหรือเปียก หรือมะกรูด) อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือตามชอบ (สูตรนี้ไม่ใส่ผงชูรส)
7. ผักเนื้อหนา เช่น ฟักทอง มันเทศ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์เกาะเปลือกแล้วแบบดิบ เมล็ดขนุนต้มสุกปอกเปลือกหั่นครึ่ง มะเขือเปราะ และมันฝรั่งฯ ลฯ
วิธีทำ
1. ตำเครื่องแกงด้วยครกหินหรือปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าก็ได้ ให้ละเอียด หรือตำอย่างหยาบก็ได้ แต่ให้ใส่กะปิ เมื่อเครื่องแกงละเอียดแล้ว ตำพอเข้ากัน
2. ทุบตะไคร้ 1 ต้น หอมแดง 2 หัวและใบมะกรูดแก่ 5 ใบ ใส่ ลงในหม้อ ใส่พุงปลา (ไตปลา) พร้อมน้ำสะอาด 2 ถ้วย (ตอนนี้ถ้าใช้มะขามสดให้ใส่ลงไปด้วย)
3. ตั้งไฟให้เดือด 4-5 นาที ยกลง กรองเอาแต่น้ำ แล้วนำขึ้นตั้งไฟใส่เครื่องแกงต้มให้เดือดใส่กุ้งสดลงไปทั้งก้อน (ห้ามคนจนกว่ากุ้งสุก) ใส่ปลาย่าง และผักต่างๆ(ชนิดที่สุกช้าใส่ก่อน) จนผักสุกหมดแล้ว ปรุงรสด้วยน้ำตาล เพื่อตัดความเค็ม และได้รสชาดกลมกล่อมขึ้น ได้ที่แล้วใส่ใบมะกรูดฉีกฝอย ยกลงพร้อมรับประทานได้
สรรพคุณของสมุนไพรในเครื่องแกงไตปลา
1. ใบมะกรูด รสปร่ากลิ่นหอมติดร้อน ใช้ปรุงอาหารช่วยดับกลิ่นคาว แก้โรคลักปิดลักเปิด ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด
2. ขมิ้นชัน รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร ขับลม รักษาโรคผิวหนัง
3. ข่า รสเผ็ดปร่าและร้อน ช่วยขับลม ขับพิษร้ายในมดลูก ขับลมในลำไส้
4. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
5. กระเทียม รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคทางผิวหนัง น้ำมันกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัส ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในหลอดเลือด
6. ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหารและขับเหงื่อ
7. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร
8. พริกไทยเม็ด รสเผ็ดร้อน ขับลม ขับเหงื่อ ช่วยเจริญอาหาร
แต่ก็มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และโรคไต ไม่ควรรับประทาน เพราะแกงไตปลามีรสเผ็ดจัด และเค็มจัด
*คุณค่าทางโภชนาการแกงไตปลาน้ำข้น 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 759 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
- น้ำ 453.4 กรัม - โปรตีน 86.5 กรัม - คาร์โบไฮเดรต 83.6 กรัม - ไขมัน 8.3 กรัม
- ฟอสฟอรัส 302.8 มิลลิกรัม - แคลเซียม 448.9 มิลลิกรัม - เหล็ก 18.8 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 2545.2 IU - กาก 5.4 กรัม - วิตามินบีหนึ่ง 55.46 มิลลิกรัม
- เรตินอล 0.88 ไมโครกรัม - วิตามินบีสอง 0.51 มิลลิกรัม - เบต้า-แคโรทีน 24 ไมโครกรัม
- ไนอาซิน 4.10 มิลลิกรัม - วิตามินซี 29.93 มิลลิกรัม *ที่มา : www.tkc.go.th
ความหมายของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
วิทยาศาสตร์ (Science) หมายถึง ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งต่างหรือปรากฏการณ์ในธรรมชาติที่ได้จากการสืบค้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีลักษณะเป็นข้อเท็จจริง มโนมติ หลักการ กฎ สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ และทฤษฎี เรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เพราะไม่ใช่การศึกษาเพื่อธุรกิจ
เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่างๆต่อมนุษย์ จึงเป็นการศึกษาเพื่อธุรกิจ
นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะและประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้เพื่อการพัฒนาด้านการจัดการ การผลิต กระบวนการผลิต หรือการบริการแนวใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้หรือตลาด จึงมีความหมายที่เป็นการคิดค้นในเชิงธุรกิจด้วย
ความสำคัญของนวัตกรรม
1. ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญรุดหน้า
2. ทำให้มีการนำความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ไปใช้อย่างมีประโยชน์
3. ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ ผลผลิต ผลงานและการบริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของตลาด
4. ทำให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาให้มีคุณค่ามากขึ้น
5. ทำให้ผู้คิดค้นมีชื่อเสียงและร่ำรวยได้
6. ช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของมนุษยชาติ
7. ช่วยพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าและยาวนานยิ่งขึ้น
8. ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมตามความต้องการ
9. ช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในระยะยาว
10. ช่วยปกป้องคุ้มครองโลกให้มีสมดุลธรรมชาติได้ยาวนาน
รูปแบบของนวัตกรรม
1. เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพัฒนาจากความรู้เดิม หรือดัดแปลง หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ สิ่งแวดล้อม หรือวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ
2. เป็นผลิตผลเพื่อการบริการ ได้แก่
- สุขภาพอนามัย เช่น เครื่องออกกำลังกาย ข้อมูลโภชนาการ อาหาร ยาและสมุนไพร และเครื่องสำอาง ฯลฯ
- อำนวยความสะดวกในบ้านเรือน สำนักงาน และยานพาหนะ ฯลฯ
3. เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับพลังงาน การใช้พลังงาน และพลังงานทดแทน ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เป็นประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ฯลฯ
ที่มา :โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 , 2007 ; www.tia.scisoc.or.th

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โรคสมัยใหม่"โรคกรดไหลย้อน"

ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน พบเมื่อต้นเดือนที่แล้ว เนื่องจากมีอาการแสบคอ แสบจมูกหลังตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำ เข้าใจว่าแพ้อากาศ รับประทานยาภูมิแพ้ก็ไม่หายสักที ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น มีอาการท้องอืดเมื่อรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ บางครั้งท้องอืดทั้งวัน ปวดท้อง และท้องผูก เข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังเพราะเป็นมานานมาก แต่เมื่อพบผู้ให้การรักษาพยาบาลจึงทราบว่าเป็นโรคทันสมัยมากๆ "โรคกรดไหลย้อน" และมีโอกาสได้อ่านบทความจากห้องสมุดสกุลไทย โดยปถพีรดา ที่นำบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงประภาพร พรสุริยะศักดิ์และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ปารยะ อาศนะเสนมานำเสนอ จึงเข้าใจมากขึ้นและ ขออนุญาตถ่ายทอดต่อให้ผู้ที่สนใจได้ทราบด้วย

โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง หมายถึง โรคที่เกิดจากกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้รู้สึกระคายเคือง แสบคอและจมูก เป็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืน รับประทานหรือไม่รับประนอาหารก็ได้ สาเหตุเกิดจากกล้านเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวอย่างผิดปกติ จึงไม่สามารถป้องกันการไหลย้อนกลับของกรดได้ โรคกรดไหลย้อนที่เกิดที่คอและหรือสายเสียง มักเกิดในขณะที่นอนหรือเวลากลางคืน ปริมาณกรดมีน้อยแต่ไม่อยู่ในหลอดอาหารเป็นเวลานานจึงทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ หลอดอาหารมีแผลอักเสบ มีอาการเรอหรือขย้อนน้อยกว่าโรคกรดไหลย้อนแบบธรรมดา

อาการของโรค ปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี่ อาจร้าวไปถึงคอ รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ แน่นคอ กลืนลำบาก เจ็บ หรือติดขัด เจ็บคอ แสบคอ ปาก ลิ้นเรื้อรังในตอนเช้า มีรสขมหรือเปรี้ยวปาก มีเสมหะในคอ ระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื้นไส้ จุกแน่นหน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย มีน้ำลายมากและมีกลิ่นปาก เสียวฟันและฟันผุ เสียงแหบ ดดยเฉพาะตอนเช้า เสียงเปลี่ยน ไอเรื้อรัง หลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน สำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกตอนกลางคืน กระแอมไอบ่อย เจ็บหน้าอก โปอดอักเสบเป็นๆหายๆ คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือน้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ ปวดหู

การรักษา ปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรปฏิบัติตลอดชีวิตแม้จะรักษาหายแล้วก็ตาม คือ

1 ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักมากจะกดช่องท้องทำให้กรดไหลย้อน อย่าเครียด ไม่สูบบุหรี่ ไม่สวมเสื้อผ้าคับหรือรัดแน่นดดยเฉพาะเอว และรักษาโรคท้องผูก การเบ่งจะดันให้กรดไหลย้อนได้

2 ปรับการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มก่อนนอน 3 ชั่วโมง รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารทอด มัน หัวหอม กระเทืยม มะเขือเทศ พิซซ่า ช็อกโกเลต ถั่ว เนย นม ไข่ และอาหารรสจัดทุกชนิด (เผ็ด เค็ม เปรี้ยว หวานมาก) หลีกเลี่ยงการดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตอนเย็น

3 ปรับนิสัยการนอน นอนหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นจากพื้นราบ 6-10 นิ้ว โดยใช้วัสดุรองขาเตียงเช่น อิฐ ไม้ อย่าใช้หมอนรองศรีษะเพราะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น

การรับประทานยา ใช้ยาลดกรดประเภท Proton Pump Inhibitor (PPI) ต้องใช้ยามากและรักษานาน รับประทานตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรลดหรือเลิกยาเอง ใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน แพทย์เป็นผู้ปรับลดขนาดยา อย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดทำให้การหลั่งกรดมากขึ้น พบว่า ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียงจะควบคุมการใช้ยาได้

การผ่าตัด จะกระทำเมื่อ มัอาการรุนแรงใช้ยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้ ผู้ป่วยเป็นซ้ำๆบ่อยๆหลังหยุดยา

สรุปว่า โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือกล่องเสียง รุนแรงกว่ากรดไหลย้อนธรรมดา เป็นได้มากเวลากลางคืนหรือนอนหลับ ไอ สำลักบ่อย ทำความรำคาญ แสบจมูกแสบคอ ปวดท้อง ท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง แต่รักษาได้ ด้วยความตั้งใจปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำ สำหรับผู้เขียนพบวิธีรักษาซึ่งได้ผลดี คือ รับประทานผงขมิ้นชัน ครั้งละ 2 แคปซุล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน.....///

น้ำมันปลา Fish oil ดีต่อสุขภาพจริงหรือ

คนใต้รับประทานปลามาช้านาน เคยได้ยินผู้ใหญ่บอกว่ารับประทานปลาทูมากๆจะทำให้ฉลาดขึ้น ตามความเข้าใจเดิมๆ ผู้เล่าเรื่องนี้คิดว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะปลาทูมีมากมายในท้องถิ่นและเป็นอาหารราคาถูก จึงนิยมให้ลูกหลานรับประทานปลาทูเป็นประจำ ปัจจุบันมีน้ำมันปลาบริสุทธิ์ออกวางจำหน่าย มักเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ราคาค่อนข้างแพง อธิบายสรรพคุณว่าป้องกันโรคได้หลายโรค เช่น ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดและสมองขาดเลือดชั่วคราว โรคเกี่ยวกับลิ่มเลือด โรคหลอดเลือดแดงตีบตัน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ลดการอักเสบ ช่วยขจัดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อรูมาตอยด์และข้อเสื่อม แต่จะช่วยได้จริงๆหรือ คงต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไป
น้ำมันปลา เป็นส่วนหนึ่งของไขมันที่สกัดจากส่วนหัวและส่วนเนื้อของปลา เช่น ปลาทูน่า ปลาทู และปลาซาร์ดีน ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิด โอเมก้า 3 ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเด่นๆ 2 ชนิด ได้แก่ กรดดีโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือ DHA ( Decoxahexaenoic Acid ) และกรดไอโคซาเพนทาอีโนอิก หรือ EPA ( Eicosapentaenoic Acid ) จากการศึกษาพบว่าการบริโภคน้ำมันตับปลาทะเลอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือดได้ โดยการป้องกันการสะสมของไขมันใต้ผนังหลอดเลือดแดง (Arteroma)จากการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและการป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Thrombosis) จากการเพิ่ม Thrombroxane A3 (TXA3)
น้ำมันปลาทะเลที่ใช้ควรมีปริมาณ EPA สูงขนาดที่ใช้ประมาณ 3 กรัมต่อวัน และต้องบริโภคอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาทดลองในคนจำนวนมากเป็นเวลานานเพียงพอ จึงไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าการบริโภคน้ำมันปลาทะเลจะช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดแดงได้และจะมีอันตรายในระยะยาวหรือไม่ DHA พบมากทีสมองและจอตาของสัตว์บกและคน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดบ่งบอกว่า DHA มีผลต่อสายตาและการเรียนรู้ในระยะยาว ถ้าจะเติม DHA ในผลิตภัณฑ์นมเลี้ยงทารกและเด็กเล็กต้องเติม AA (Arachidonic acid) โดยมีปริมาณอัตราส่วนของ DHA และ AA เท่ากับในนมแม่ ไม่ควรมี EPA และอัตราส่วน กรดไลโนเลอิก และกรดไลโนเลนิค ต้องเท่ากับในนมแม่
ไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้นที่แสดงว่าถ้าบริโภคน้ำมันปลาทะเลแล้วจะทำให้เด็กฉลาดมากขึ้นและทำให้ผู้สูงอายุมีความจำดีขึ้น
น้ำมันปลาทะเลอาจเป็นประโยชน์ในการลดการอักเสบ ( inflammatory ) และโรคที่เกี่ยวกับภูมิต้านทาน ( Immunologic disease ) เช่น SLE, rheumatoid arthritis เป็นต้นด้วยการที่ EPA ไปแทนที่ AA ยับยั้งการสังเคราะห์ cytokines ที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น IL-1,IL-2 และ TNF มีรายงานผลการศึกษาการบริโภคน้ำมันปลาทะเลวันละ 6 กรัม ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ประมาณ 2.6 กรัม นาน 12 เดือนในผู้ป่วย rheumatoid arthritis พบว่าผู้ป่วยมีอาการของข้อดีขึ้นและสามารถลดยาที่รักษาอยู่ได้โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่บริโภคน้ำมันมะกอกวันละ 6 กรัมเช่นกัน
ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำมันปลาทะเล
1. เลือดออกง่าย(Excess Bleeding) เนื่องจากการลดการจับตัวของเกร็ดเลือด ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ที่รับประทาน Baby Aspirin เป็นประจำ
2. เพิ่มความต้องการวิตามินอี เนื่องจากร่างกายต้องนำวิตามินอีไปต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันของกรดไขมันไม่อิ่มตัว (PUFA) ดังนั้นถ้าร่างกายได้รับ Antioxidant ไม่เพียงพอในระยะยาวอาจส่งเสริมการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เนื่องจากการเพิ่ม oxidize LDL
3. อาจเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจาก EPA กดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
น้ำมันปลาแม้จะมีประโยชน์ในการรักษาดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากน้ำมันปลาทะเลมีกลิ่นแรงและต้องใช้ขนาดสูง ผู้ป่วยมักรู้สึกผะอืดผะอมและปั่นป่วนในท้องมากจนต้องหยุดรับประทานไปในที่สุด นอกจากนั้นยังอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรบริโภคปลาทะเลแทนน้ำมันปลาทะเลในปริมาณสัปดาห์ละ 3 มื้อ มื้อละ100 กรัม ความมหัศจรรย์ของน้ำมันปลา ปัจจุบันนี้ วงการแพทย์หันมาสนใจถึงความมหัศจรรย์ของน้ำมันปลามากขึ้น หลังจากที่พบว่าชาวเอสกิโมกรีนแลนด์และชาวญี่ปุ่น มีอัตราการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดต่ำกว่าชนชาติอื่นๆ เพราะรับประทานเนื้อปลาทะเลเป็นอาหารหลัก
ข้อควรทราบของน้ำมันปลา
1. กรดไขมัน EPA และ DHA ในปลาน้ำจืดมีน้อยกว่าปลาทะเล
2. การกินปลาทะเล 200-300 กรัมต่อวัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะสามารถเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า-3 ในอาหารได้ถึง 0.2 - 0.5 กรัมต่อวัน
3. น้ำมันปลาต่างจากน้ำมันตับปลา โดยทั่วไป น้ำมันปลาให้วิตามิน A , D เหมาะสมต่อร่างกาย แต่การรับประทานน้ำมันตับปลาเพียง 20 CC จะได้รับวิตามิน A , D มากเกินความต้องการถึง 4 เท่า
4. น้ำมันปลา 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่
น้ำมันปลา เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ซึ่งได้แก่- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด- ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง- ผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะประจำ และขาดการออกกำลังกาย
ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์-ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือ โรคหลอดเลือดอุดตัน-ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551

มาชะลอความแก่ชราของร่างกายและดูแลสมองกันเถอะ

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เกิดการคิดค้น ค้นหาจนพบสิ่งต่างๆที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจ โดยเฉพาะ เรื่อง การชะลอกระบวนการแห่งชราภาพ จะทำได้หรือไม่ คนเราจะมีชีวิตยืนยาวได้นานขึ้นหรือไม่ ถ้าได้จะทำอย่างไร มีการศึกษาจนพบรายละเอียดอันซับซ้อนมากจนไม่สามารถอธิบายได้ในเวลานี้
หลักการสำคัญที่จะนำไปสู่การชะลอกระบวนการแห่งชราภาพ และเพิ่มโอกาสให้สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี ดังนี้คือ
1. เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้ตนเองได้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนานเป็นประจำ
2. มีอาชีพการทำงานที่สนุก สามารถรับมือกับความเครียดได้
3. โดยทั่วไปมีสัมพันธภาพที่มีความสุขในครอบครัว (สามี/ภรรยา/ลูก)
4. เป็นสมาชิกชมรมต่างๆ มีเพื่อนมากมาย
5. แสวงหาที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพัฒนาตนเอง
6. รับประทานอาหารที่สมดุล และดีต่อสุขภาพ
7. รับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามิน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระ
8. มักให้อภัยและลืมสิ่งที่ไม่ดี
9. มีสติ รู้คุณค่าและมีจุดมุ่งหมายในชีวิต
10. มีความมั่นคงและมีระเบียบในชีวิต
หนทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมสภาพและแก่ตัวอย่างรวดเร็ว มีดังนี้
1. ใช้ชีวิตแบบที่ต้องนั่งเป็นส่วนใหญ่
2. น้ำหนักตัวมากเกินไป
3. ไม่สามารถรับมือกับความกดดันได้
4. อยู่อย่างโดเดี่ยว ทำงานตามลำพัง มีเพื่อน/สมาชิกครอบครัวน้อย
5. ยากจนหรือมีโอกาสทางการงานอาชีพที่จำกัด
6. รับประทานอาหารอย่างไม่ถูกต้อง เช่น อาหารสำเร็จรูป
7. รับประทานอาหารมากเกินไป เพื่อปลอบใจตนเอง
8. ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
9. ไปหาหมอเป็นประจำ เพราะมีโรคหลายโรค
10. เก็บกดความไม่พอใจ ความโกรธ ความกลัว
11. ขาดจุดมุ่งหมาย และไม่ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง
12. ขาดความมั่นคงและระเบียบในชีวิต
จะมีคนสักกี่คนที่สามารถมีวิถีแห่งการดำรงชีวิตที่ดี ที่จะช่วยชะลอกระบวนการชราภาพได้ และได้ทราบว่ามีสิ่งใดที่กำลังเร่งกระบวนการชราภาพ ในกระบวนการเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่สามารถนำไปปรับปรุงตนเองได้ทันที คือ อาหาร เพราะอาหารมีผลต่อความแก่ชรา คงความเป็นหนุ่มสาวได้ และช่วยให้มีความสุขในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของชีวิต
(ที่มา : Science today ฉบับที่ 3 .2546.หน้า 26-27)
มาดูแลสมองกันเถอะ
บางที่การดูแลร่างกายให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่ลืมนึกถึงอวัยวะที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ “สมอง” อาจารย์กฤษฎี โพธิทัต นักโภชนากรโรงพยาบาลเวชธานี ได้บอกเล่าเรื่อง อาหารบำรุงสมอง เพื่อให้ผู้บริโภคฉลาดเลือกรับประทานได้ดียิ่งขึ้น
สมอง” เป็นอวัยวะ ทำหน้าที่เสมือนศูนย์ควบคุม สั่งการทำงานของส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นหน่วยเก็บความจำ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกด้วย แต่เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อสมองมีการเปลี่ยนแปลง มีอาการหลงลืม เฉื่อยชา หดหู่ เหงา เศร้ามากขึ้น ไอคิวและความอยากเรียนรู้ลดน้อยลง แต่ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย เพราะสมองคนเราสามารถพัฒนากระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้น ราวเป็นสมองคนรุ่นใหม่ได้อยู่เสมอ นักวิจัยค้นพบว่าสมองสามารถสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ได้ ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใดก็ตาม หากมีสิ่งกระตุ้นทางด้านความคิด และประกอบกับการได้รับสารอาหารที่ดีมาหล่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ อาหารสมองที่ทราบกันทั่วๆไป คือ ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 แต่สมองยังต้องการวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆด้วย เช่น
1. วิตามินบีต่างๆ ช่วยป้องกันสมองเสื่อม นักวิจัยพบว่าวิตามินบีช่วยส่งต่อข้อมูลของเซลล์สมอง ทำให้มีสมาธิในการทำงาน คิด เพิ่มความจำ และความคุมอารมณ์ได้ด้วย พบได้ใน ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และอาหารทะเล
ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาการดูดซึมสารอาหารโดยเฉพาะวิตามินบี เพราะใช้ยาลดกรมในกระเพาะอาหาร ควรรับประทานวิตามินเสริมด้วย
2. ธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุที่นำพาก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ทำให้มีสมาธิ ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้ไม่มีสมาธิ การเรียนรู้ลดลงและอ่อนเพลีย พบในเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล
ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก คือ ผู้สูงอายุที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ ผู้ทานอาหารเจหรือมังสวิรัติ ผู้หญิงวัยทอง และผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาก
3. กรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยป้องกันสมองเสื่อม พบใน ปลาทะเล นักวิจัยพบว่า การรับประทานปลาทะเลอย่างสม่ำเสมอจะมีความคิดความจำดีกว่าผู้บริโภคปลาทะเลน้อย แต่ควรเลี่ยงปลาทอด เพราะทำให้จะสูญเสียโอเมก้า 3ได้
4. สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซี วิตามินอี สารเบต้าแคโรทีน ช่วยป้องกันเยื่อสมองจากสารอนุมูลอิสระที่นำไปสู่สมองเสื่อม ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วน พบใน ผัก ผลไม้ และถั่วต่างๆ(โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีสีเข้มต่างชนิดกันไป)
5. โคลีน เป็นส่วนประกอบของเยื่อสมอง พบในไข่แดง ตับ ถั่วลิสง ขนมปังโฮลวีท นม มันฝรั่ง มะเขือเทศ และส้ม
นอกจากอาหารมีความสำคัญต่อสมองแล้ว พฤติกรรมการบริโภคที่ดีมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง เช่น การรับประทานให้เป็นเวลา ไม่งดอาหารเช้า ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควบคุมความดัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมสมอง รวมทั้งนั่งสมาธิและฝึกการคิดให้เป็นระบบ จะช่วยชะลอภาวะเสื่อมของสมองได้
(ที่มา: สกุลไทย. ฉบับที่2798.2551.หน้า 71)