วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

แกงพุงปลา(ไตปลา)ปากพนัง

ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดย ยุวดี วัฒนสุนทร
คนปากพนังดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับแม่น้ำและทะเล ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีความอุดมสมบูรณ์มายาวนาน มีทั้งสัตว์น้ำมากมาย ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ปริมาณสัตว์น้ำมากมาย จนเกิดภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาปรุงอาหารรับประทาน และถนอมอาหารที่มีอยู่ไว้รับประทานได้นานขึ้นหรือเก็บไว้ในหน้าแล้ง เช่น ปลากระบอกที่นำมาทำปลาร้า(ภาษาท้องถิ่น) ( หมายถึงปลาเค็ม ) ปลากระบอกผ่าล้างน้ำเกลือแล้วตากแห้ง ไข่ปลากระบอกล้างน้ำเกลือตาก ส่วนพุงปลากระบอกหรือไตปลา นำแกะเอาถุงน้ำดีออกและรีดเอาอาหารหรือดินในกระเพาะและไส้ออกก่อน แล้วล้างให้สะอาดแล้วใส่เกลือหมักไว้ เมื่อมีแสงแดดจะนำออกมาตากไว้จะมีกลิ่นหอม ประมาณ 1 เดือนจึงจะนำมาปรุงเป็นอาหารได้
มีการปรุงได้หลายๆแบบ เช่น
· แกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กุ้งสด หรือใส่ปลาช่อนย่าง หรือใส่ปลาดุกนาย่าง หรือปลาอื่นๆที่มีอยู่โดยนำปลามาย่างให้สุกก่อนใส่ลงในแกง อาจเพิ่มผักที่มีเนื้อแข็งหรือเนื้อหนาลงไปด้วย เช่น ฟักทอง มันเทศ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์เกาะเปลือกแล้วแบบดิบ เมล็ดขนุนต้มสุกปอกเปลือกหั่นครึ่ง มะเขือเปราะ หน่อไม้ต้ม(ดัดแปลงไปจากท้องถิ่น) หรือมันฝรั่งก็ได้
· แกงพุง(ไตปลา)ปลาอื้อ เป็นแกงที่มีไตปลาเป็นหลัก แต่เครื่องแกงไม่ตำ แต่จะหั่นทุกอย่างในเป็นฝอยหรือชิ้นเล็กๆพร้อมทั้งใส่ขนมถั่วงาตำลงไปด้วย
· แกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กะทิ โดยการเพิ่มกะทิลงในแกงแกงพุงปลา(ไตปลา)ใส่กุ้งสด เพื่อเปลี่ยนรสชาด
แกงไตปลามีรสจัด มักทำรับประทานในฤดูฝนอากาศเย็น จะช่วยรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย และเพื่อเพิ่มคุณค่าให้อาหาร โดยการรับประทานร่วมกับผักสดหลายชนิด รวมทั้งช่วยลดความเผ็ดร้อนลง เรียกว่า ผักเหนาะ เช่น สะตอเบา(กระถิน รับประทานทั้งยอดอ่อน ฝักอ่อนและเมล็ด) สะตอหนัก ลูกเนียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ และ แตงกวา เป็นต้นมักรับประทานร่วมกับแกงเรียง ผักพื้นบ้าน หรือกับขนมจีนใส่แกงพุงปลา ก็เป็นที่นิยมรับประทาน อร่อยมากเช่นกันเครื่องปรุงแกงพุงปลา(ไตปลา)ปากพนัง
1. กุ้งสดแกะเปลือกแล้วทุบ หรือหั่นเฉียงๆ 1 ถ้วยตวง(หรือหมูสับก็ได้ตามชอบ)
2. ปลาช่อน(ปลาดุก หรือปลาทะเลอื่นๆที่มีอยู่ ย่างแกะเนื้อแล้ว) 1 ถ้วย หรือตามชอบ
3. ไตปลา ครึ่งถ้วยตวง (60 กรัม)
4. เครื่องแกง ประกอบด้วย
· ตะไคร้หั่นเป็นแว่นบางๆ 2-3 ช้อนโต๊ะ (นิยมใส่มากๆจะช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี)
· ขมิ้นหั่นเป็นแว่นๆ 1/2 ช้อนโต๊ะ
· หอมแดง 2-3 หัว
· กระเทียมไทย 10-15 กลีบ
· พริกขี้หนูแห้งหรือสด 25 เม็ด
· พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา
· ผิวมะกรูดหั่นฝอย 1/2 ช้อนชา
· ข้าวสารแช่น้ำ 1 ช้อนชา (ถ้าต้องการแกงน้ำข้น)
· กะปิ 1/2 ช้อนโต๊ะ
5. ใบมะกรูดอ่อน 5 ใบ และใบแก่ 5 ใบ
6. เครื่องปรุงรส ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมะนาว (มะขามสดหรือเปียก หรือมะกรูด) อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือตามชอบ (สูตรนี้ไม่ใส่ผงชูรส)
7. ผักเนื้อหนา เช่น ฟักทอง มันเทศ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์เกาะเปลือกแล้วแบบดิบ เมล็ดขนุนต้มสุกปอกเปลือกหั่นครึ่ง มะเขือเปราะ และมันฝรั่งฯ ลฯ
วิธีทำ
1. ตำเครื่องแกงด้วยครกหินหรือปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าก็ได้ ให้ละเอียด หรือตำอย่างหยาบก็ได้ แต่ให้ใส่กะปิ เมื่อเครื่องแกงละเอียดแล้ว ตำพอเข้ากัน
2. ทุบตะไคร้ 1 ต้น หอมแดง 2 หัวและใบมะกรูดแก่ 5 ใบ ใส่ ลงในหม้อ ใส่พุงปลา (ไตปลา) พร้อมน้ำสะอาด 2 ถ้วย (ตอนนี้ถ้าใช้มะขามสดให้ใส่ลงไปด้วย)
3. ตั้งไฟให้เดือด 4-5 นาที ยกลง กรองเอาแต่น้ำ แล้วนำขึ้นตั้งไฟใส่เครื่องแกงต้มให้เดือดใส่กุ้งสดลงไปทั้งก้อน (ห้ามคนจนกว่ากุ้งสุก) ใส่ปลาย่าง และผักต่างๆ(ชนิดที่สุกช้าใส่ก่อน) จนผักสุกหมดแล้ว ปรุงรสด้วยน้ำตาล เพื่อตัดความเค็ม และได้รสชาดกลมกล่อมขึ้น ได้ที่แล้วใส่ใบมะกรูดฉีกฝอย ยกลงพร้อมรับประทานได้
สรรพคุณของสมุนไพรในเครื่องแกงไตปลา
1. ใบมะกรูด รสปร่ากลิ่นหอมติดร้อน ใช้ปรุงอาหารช่วยดับกลิ่นคาว แก้โรคลักปิดลักเปิด ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด
2. ขมิ้นชัน รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เจริญอาหาร ขับลม รักษาโรคผิวหนัง
3. ข่า รสเผ็ดปร่าและร้อน ช่วยขับลม ขับพิษร้ายในมดลูก ขับลมในลำไส้
4. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
5. กระเทียม รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคทางผิวหนัง น้ำมันกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัส ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในหลอดเลือด
6. ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหารและขับเหงื่อ
7. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร
8. พริกไทยเม็ด รสเผ็ดร้อน ขับลม ขับเหงื่อ ช่วยเจริญอาหาร
แต่ก็มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และโรคไต ไม่ควรรับประทาน เพราะแกงไตปลามีรสเผ็ดจัด และเค็มจัด
*คุณค่าทางโภชนาการแกงไตปลาน้ำข้น 1 ชุด ให้พลังงานต่อร่างกาย 759 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
- น้ำ 453.4 กรัม - โปรตีน 86.5 กรัม - คาร์โบไฮเดรต 83.6 กรัม - ไขมัน 8.3 กรัม
- ฟอสฟอรัส 302.8 มิลลิกรัม - แคลเซียม 448.9 มิลลิกรัม - เหล็ก 18.8 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 2545.2 IU - กาก 5.4 กรัม - วิตามินบีหนึ่ง 55.46 มิลลิกรัม
- เรตินอล 0.88 ไมโครกรัม - วิตามินบีสอง 0.51 มิลลิกรัม - เบต้า-แคโรทีน 24 ไมโครกรัม
- ไนอาซิน 4.10 มิลลิกรัม - วิตามินซี 29.93 มิลลิกรัม *ที่มา : www.tkc.go.th
ความหมายของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
วิทยาศาสตร์ (Science) หมายถึง ความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งต่างหรือปรากฏการณ์ในธรรมชาติที่ได้จากการสืบค้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีลักษณะเป็นข้อเท็จจริง มโนมติ หลักการ กฎ สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ และทฤษฎี เรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เพราะไม่ใช่การศึกษาเพื่อธุรกิจ
เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์สร้างสรรค์เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่างๆต่อมนุษย์ จึงเป็นการศึกษาเพื่อธุรกิจ
นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะและประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้เพื่อการพัฒนาด้านการจัดการ การผลิต กระบวนการผลิต หรือการบริการแนวใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้หรือตลาด จึงมีความหมายที่เป็นการคิดค้นในเชิงธุรกิจด้วย
ความสำคัญของนวัตกรรม
1. ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญรุดหน้า
2. ทำให้มีการนำความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ไปใช้อย่างมีประโยชน์
3. ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ ผลผลิต ผลงานและการบริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของตลาด
4. ทำให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาให้มีคุณค่ามากขึ้น
5. ทำให้ผู้คิดค้นมีชื่อเสียงและร่ำรวยได้
6. ช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของมนุษยชาติ
7. ช่วยพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าและยาวนานยิ่งขึ้น
8. ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมตามความต้องการ
9. ช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในระยะยาว
10. ช่วยปกป้องคุ้มครองโลกให้มีสมดุลธรรมชาติได้ยาวนาน
รูปแบบของนวัตกรรม
1. เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพัฒนาจากความรู้เดิม หรือดัดแปลง หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ สิ่งแวดล้อม หรือวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ
2. เป็นผลิตผลเพื่อการบริการ ได้แก่
- สุขภาพอนามัย เช่น เครื่องออกกำลังกาย ข้อมูลโภชนาการ อาหาร ยาและสมุนไพร และเครื่องสำอาง ฯลฯ
- อำนวยความสะดวกในบ้านเรือน สำนักงาน และยานพาหนะ ฯลฯ
3. เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับพลังงาน การใช้พลังงาน และพลังงานทดแทน ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เป็นประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ฯลฯ
ที่มา :โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 , 2007 ; www.tia.scisoc.or.th