วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2552

เศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชกระแสรับสั่งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขาจะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งใหม่แต่เราอยู่ อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ ช่วยกันรักษาส่วนร่วม ให้อยู่ที่พอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้ไปจากเราได้...” พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2517
“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” พระราชดำรัส "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2540
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข จาก งานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวฯ มาสาระดังนี้ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง สร้างแนวคิดเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ บนพื้นฐานของความพอประมาณ มีมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน อาศัยความรู้ คือ รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง วางแผนและดำเนินการอย่างมีคุณธรรม คือซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน และแบ่งปัน ให้สามารถปฏิบัติตน ประกอบอาชีพ ใช้จ่ายอย่างพอเพียง ประหยัด ปราศจากหนี้สิน รู้จักเก็บออม และช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลัง อันจะนำไปสู่การดำรงชีวิต เศรษฐกิจและสังคม ที่สมดุล มั่นคงและยั่งยืน เพื่อเป็นการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ รวมทั้งการพัฒนาและบริหารประเทศเน้นความความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้สามารถอยู่ได้ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต
พื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่าง สังคมระดับท้องถิ่นและตลาดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล ทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้
เศรษฐกิจพอเพียง จะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชุมชนให้ดีขึ้น ต้องอาศัยหลักการ 2 ประการคือ
1. ความสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณผลผลิตที่ได้กับความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค
2. ความสามารถในการจัดการทรัพยากรของชุมชน
ผลที่ได้ คือ
1. ประชาชนสามารถดำรงชีวิตประกอบอาชีพได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก
2. สามารถใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
3. สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล มั่นคงและยั่งยืน
4. ปกป้องชุมชน สังคมและเศรษฐกิจจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกได้
ดังนั้นสรุปได้ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดำเนินชีวิตตามหลักทางสายกลาง ศึกษาหาความรู้ ประกอบอาชีพที่ซื่อสัตย์ สุจริต รู้จักประหยัดอดออม ใช้จ่ายตามความเหมาะสม ไม่มีหนี้สิน และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เหมาะสม และรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ยาวนาน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างสุขสบาย สมดุล มั่นคง และยั่งยืนนาน……///…